top of page
รูปภาพนักเขียนThai Nepal Travels & Trek

เทศกาลผูกด้ายศักดิ์สิทธิ์ Janai Purnima and Rakshya Bandhan

อัปเดตเมื่อ 19 ส.ค.

ด้ายศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่บนข้อมือ ถือเป็นตัวแทนของความผูกพัน ความบริสุทธิ์ และความปลอดภัย

Janai Purnima and and Rakshya Bandhan :Photo: OMG Nepal

ประเทศเนปาล นอกจากจะเป็นประเทศที่สวยงามไปด้วยธรรมชาติ ตั้งอยู่ในอ้อมกอดของหิมาลัย เสน่ห์ของประเทศเนปาล ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไม่แพ้ธรรมชาติ และภูเขา คือ เทศกาล วัฒนธรรม อันเก่าแก่ที่มีสีสันสวยงาม ใน 1 ปี เราจะเห็นว่าประเทศเนปาล มีเทศกาลอันเก่าแก่มากมาย


เนื่องจากประเทศเนปาลใช้ปฏิทินตาม จันทรคติ หรือที่ชาวนปาลเรียกว่า เนปาล บิกรัม ซามบัต เกือบทุกเทศกาลและพิธีกรรมต่าง ๆ มีการปฏิบัติตามปฏิทินนี้ โดยเฉพาะชาวเนวารีอย่างเคร่งครัด ในบทความนี้เราจะมาพูดถึง เทศกาล จาไน ปูร์นิมา และ รักช์ยา บานดาน เป็นเทศกาลที่ตรงกับ วันพระจันทร์เต็มดวง ในเดือน Shrawan ในปฏิทินจันทรคติ ของประเทศเนปาล หรือประมาณ เดือนกรกฎา-สิงหาคม ตามปฏิทินสากล (เทศกาลนี้จะเกิดขึ้นในวันเดียวกันหรือใกล้เคียงกันทุกปีกับปฏิทินสากล) เทศกาลนี้มีการเฉลิมฉลองโดยชาวฮินดูทั่วทุกมุมโลก โดยในวันนี้ จะมีเหตุการณ์สำคัญ เกิดขึ้น 3 เหตุการณ์ คือ


1. จาไน ปูร์นิมา การเปลี่ยนด้ายศักดิ์สิทธิ์ ของผู้สวมจาไน

2. รักช์ยา บานดาน การผูกด้ายศักดิ์สิทธิ์ ที่ข้อมือของชาวฮินดู

3. วันราคิ หรือวันที่พี่สาว/น้องสาว ผูกด้ายศักดิ์สิทธิ์ ให้กับพี่ชาย/น้องขาย


เรามาเริ่มกันที่เหตุการณ์แรก คือ จาไน ปูร์นิมา

จาไน หมายถึง ด้ายศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์สวมใส่ และ ปูร์นิมา หมายถึง พระจันทร์เต็มดวง

จาไน ปูร์นิมา เป็นเทศกาลด้ายศักดิ์สิทธิ์ ในวันนี้ชายชาวฮินดูโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวรรณะพราหมณ์และเชตริส จะเปลี่ยนจาไน (ด้ายศักดิ์สิทธิ์) ปีละครั้งในวันนี้ ในขณะที่ชาวฮินดูคนอื่น ๆ พรหมณ์จะผูกด้ายศักดิ์สิทธิ์รอบข้อมือพวกเขา ซึ่งเป็นตัวแทนของความผูกพัน ความบริสุทธิ์ และความปลอดภัย ในช่วงเทศกาลนี้ ชาวฮินดูจะอาบน้ำในลำธารที่ศักดิ์สิทธิ์ และทำบุญที่วัดของพวกเขา

ผู้ที่สวมใส่ จาไน Photo: himalayan yoga nepal

จาไน คืออะไร?

จาไน เป็นผ้าฝ้ายที่ตัดเป็นสายยาว สวมทับหน้าอก ให้กับผู้ชายฮินดู ในระหว่างที่ทำพิธีทางศาสนาที่ยาวนานและน่าประทับใจที่เรียกว่า บาร์บาบานดา ศาสนาเกือบทั้งหมดมีประเภทของ บาร์บาบานดา แต่รู้จักกันในชื่อต่าง ๆ แบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การบวชของเด็กชาย ในการเข้าสู่ศาสนาครั้งแรกนั่นเอง


ในทางศาสนาฮินดูนั้น เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่เด็กผู้ชาย (ช่วงอายุ 8-12 ปี) โกนหัวและดำเนินพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์ที่เด็กผู้ชายโตพอที่จะทำหน้าที่ของเขาในฐานะ บราช์มัชชาริ (นั่นคือการเรียนรู้) สำหรับในวรรณะพรหมณ์แล้วเด็กเหล่านี้จะเรียนรู้ในระบบเวทของการศึกษา เพื่อเป็นพรหมณ์ต่อไป


ด้ายจะต้องสวมใส่ทุกวันในชีวิตของพวกเขาหลังจากพิธีนี้ เป็นสัญลักษณ์ของร่างกาย คำพูด และจิตใจ ให้บริสุทธิ์ เคร่งครัดต่อศาสนา และไม่มีการทำผิดใด ๆ ต่อศาสนา ไปจนกว่าจะเปลี่ยนด้ายใหม่อีกครั้ง ในวัน จาไน ปูร์นิมา ในปีถัดไป


สิ่งที่ต้องทำในเทศกาล จาไน ปุนิมา

ก่อนเริ่มเทศกาล จาไน ปูร์นิมา 1 วัน ผู้ที่สวมใส่ จาไน ต้องทำความสะอาดร่างกาย ด้วยการโกนหรือตัดผม และอาบน้ำให้สะอาด รวมทั้งอดอาหาร โดยทานอาหารเพียงมื้อเดียวที่ถือว่าเป็นอาหาร 'สะอาด' ในที่นี้หมายถึงอาหารที่ ไม่มีเนื้อสัตว์ หัวหอมหรือกระเทียม


ในวันจาไน ปูร์นิมา ตอนเช้าผู้ชายที่สวมใส่ จาไน จะไปที่แม่น้ำหรือบ่อน้ำใกล้เคียง เพื่ออาบน้ำ จุ่มตัวลงไปในน้ำสามครั้ง ถอดและทำลาย จาไน เส้นเก่า และเปลี่ยนใส่ จาไน เส้นใหม่

สำหรับในเมือง จะเชิญนักบวชมาที่บ้าน เพื่ออ่านบทส่วนมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ และทำพิธีใส่สายจาไนเส้นใหม่ โดยต้องมีการมอบเงินและอาหาร เรียกว่า ดักซินา รวมทั้งมีการให้สิ่งของอื่น ๆ เรียกว่า ดาน ในภาษา สันสกฤษ ให้กับนักบวชหลังจากเสร็จพิธี


นี่ถือเป็นการเสร็จพิธีของ จาไน ปูร์นิมา ในส่วนของผู้ชายชาวอินดูที่สวมจาไน

ต่อไปเรามาเข้าเรื่องของ รักช์ยา บานดาน ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับจาไน ปูร์นิมา


2. รักช์ยา บานดาน


รักช์ยา บานดาน คืออะไร

ในวันนี้ ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก โดยไม่คำนึงถึงสถานะและวรรณะได้ผูก ด้ายศักดิ์สิทธิ์ สีสันสดใส (เรียกว่า โดโร) รอบข้อมือของพวกเขา โดยทั่วไปแล้ว สำหรับผู้ชายจะมัดไว้ด้านขวา และผู้หญิงจะมัดไว้ด้านซ้าย รักช์ยา หมายถึง "เพื่อปกป้อง" และ บานดาน คือ "เสมอกัน" หรือ "ผูกมัด" รักช์ยา บานดาน เป็นสายสัมพันธ์หรือการคุ้มครอง นั่นเอง

การผูกด้ายศักดิ์สิทธิ์ โดยพรหมณ์ Photo: Kathmandu Post

ชาวฮินดู เชื่อว่า ด้ายศักดิ์สิทธิ์ หรือโดโร นี้ จะนำความโชคดีมาให้ เมื่อพวกเขาเชื่อหรือหวังในสิ่งใด จะกลายเป็นจริงเสมอ พวกเขาจะผูกด้ายศักดิ์สิทธ์ ไว้ในข้อมือ จนถึงวัน บูชาลักษมี ในเทศกาล ดีปาวาลี (เทศกาลบูชาไฟ และ ตรงกับวันบูชาวัว จะมีขึ้นในช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม ทุก ๆ ปี) พวกเขาจะถอดด้ายศักดิ์สิทธิ์ จากข้อมือ และนำไปผูกไว้กับหางของวัว ในวัน ลักษมีปูจานี้


วัวเข้ามาเกี่ยวข้องอะไรด้วย ชาวฮินดูเชื่อว่าพวกเขาต้องข้ามแม่น้ำ พิตาร์นี หลังจากความตายไปถึงสวรรค์ วัวจะช่วยให้พวกเขาข้ามแม่น้ำพิตาร์นีได้ โดยอนุญาตให้ผู้ตายผูกติดกับหางวัวและวัวเดินข้ามแม่น้ำไปสู่สวรรค์ แต่ต้องเป็นคนที่ผูกด้ายศักดิ์สิทธิ์ ในวันลักษมี ปูจา เท่านั้น ถึงจะข้ามไปได้


สิ่งที่ทำใน รักช์ยา บานดาน

ในตอนเช้าผู้คนชาวฮินดูจะไปที่วัด หรือเชิญนักบวช (พรหมณ์) มาที่บ้าน เพื่อผูกด้าย สีส้ม สีเหลือง หรือสีแดงรอบข้อมือ ในขณะที่ผูกข้อมือ นักบวชจะสวด บทสวด รักชา บานดา ไปด้วย โดยมีบทสวดว่า


"एन बद्धु बलि राजा दानबिन्द्रो महावल

तेन त्वं बध नामी रक्षे मा चल मा चल"

“ ฉันผูกข้อมือให้คุณ (ผู้นับถือศรัทธา) รักชา ซึ่งผูกติดอยู่กับบาลีราชาแห่งปีศาจ

ดังนั้นโอ้ รักชา! ไม่เคยล้มเหลวในการปกป้องผู้นับถือศรัทธานี้”


มีราชาแห่งปีศาจ ชื่อบาลี เข้ามาเกี่ยวข้องอีก ดูบทความนี้ จะยิ่งเขียนยิ่งยาวไป เรื่อย ๆ เอาเป็นว่า ผู้เขียน จะเขียนความเป็นมาของเทศกาลท้้งหมดนี้ ในตอนท้ายของบทความ นะคะ


เรามาเข้าสู่เหตุการณ์ ที่สามคือ วันราคิ


3. วันราคิ หรือวันที่พี่สาว/น้องสาว ผูกด้ายศักดิ์สิทธิ์ ให้กับพี่ชาย/น้องขาย

การผูกด้าย Rakhi ให้กับพี่ชาย Photo: Jakran.com

เทศกาลนี้ จะเป็นการผูก ราคิ หรือด้ายศักดิ์สิทธิ์ โดยน้องสาว/พี่สาว บนข้อมือของ พี่ชาย/น้องชาย ของเธอ ก่อนหน้าวันนี้ สองสามวัน ตลาดในประเทศเนปาล จะเต็มไปด้วยสีสันที่แตกต่างกันของด้ายศักดิ์สิทธิ์ ราคิ เทศกาลนี้เทียบเท่ากับ ไบติกา ในเทศกาล ทิฮาร์ (วันพี่น้อง) และในบางชุมชนทั่วเนปาล พี่ชาย/น้องชาย มอบของขวัญให้น้องสาว/พี่สาว ของเขา และสาบานที่จะดูแลเธอ ในขณะที่เธอมอบขนมให้พี่ชาย/น้องชาย ของเธอ ความหมายของ ราคิ คือ ด้ายศักดิ์สิทธิ์นี้ มีภาระผูกพันตลอดชีวิตในการให้ความคุ้มครองผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิง นั่นเอง


นับว่าเทศกาล จาไน ปูร์นิมา เป็นเทศกาลทางศาสนาฮินดูที่สำคัญมาก นอกจากพิธีกรรมทางศาสนา ต่าง ๆ แล้ว ต้องมีการเฉลิมฉลองกันทางด้านอาหารด้วย เนื่องจากเป็นวันที่รวมตัวของญาติพี่น้องด้วยเช่นกัน ชาวเนปาลปาลเขาทานอะไรกันในวันนี้ ?


อาหารที่ทานเฉลิมฉลองกันในเทศกาล จาไน ปูร์นิมา

ในเนปาลเมนูพิเศษสำหรับ เทศกาล จาไนปูนนิมา คือ ควาติ วันนี้เรียกอีกอย่างว่าควาตีปุนหิ เป็นซุปรวมมิตรถั่วต่าง ๆ และปุนหิ หมายถึงวันพระจันทร์เต็มดวง


“ควา” หมายถึงร้อน และ 'ติ' หมายถึงซุป ในภาษาเนปาล ก็คือ “ ซุปร้อน” เป็นเมนู ที่ให้ความอบอุ่นและโภชนาการแก่เกษตรกร ที่ใช้เวลาหลายวันในน้ำโคลน หลังการทำนา ในวันพิเศษนี้ผู้คนเตรียมอาหารจานนี้และทานร่วมกับครอบครัว

Kawti รวมมิตรถั่ว Photo: Facemeu.com

นอกจากนี้เกษตรกร ยังบูชากบ ในวันนี้ด้วย เชื่อว่า กบเป็นเทพเจ้าแห่งฝน และทำให้ผลผลิตทางการเกษตรดียิ่งขึ้น และเชื่อว่ากบ กินแมลงศัตรูพืช และยังมีเรื่องเล่าตำนานพื้นบ้าน ของ กบ ในการปกป้องผู้คนจากปีศาจดังนั้นเพื่อขอบคุณกบเหล่านั้น พวกเขาจะบูชากบด้วย ควาติ และข้าว คนเนปาล ห้ามกินกบ กันนะคะ ถือเป็นอีกหนึ่งพระเจ้าของชาวเนปาล โดยเฉพาะเมนู กบผัดกะเพรา นี่ห้ามเด็ดขาด ใบกะเพราถือเป็นตัวแทนของเจ้าแม่ลักษมีด้วยเช่นกัน


จะเห็นได้ว่าเทศกาลต่าง ๆ ของชาวเนปาล จะเกิดจากความเชื่อและความศรัทธาทั้งสิ้น ทุกเทศกาลจะมีเรื่องเล่า ความเป็นมา และความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งการขอและการสวดอ้อนวอนเป็นหลัก เป็นการสร้างสีสันให้กับเทศกาลทุกเทศกาล และเป็นที่พึ่งทางใจให้กับชาวฮินดูเช่นกัน


ตำนานเรื่องเล่า ของเทศกาล จาไน ปูร์นิมา และ รักช์ยา บานดาน

สำหรับตำนานของเทศกาลนี้ มีหลายตำนานที่กล่าวถึงดังต่อไปนี้


ในตำนานของ ซานโตชิ มา

ท่านพระพิฆเณศมีบุตรชายสองคน คือ ชูบและลาบ ในวันรักชา บานดาน พี่สาวของพระพิฆเนศมาเยี่ยมและผูก ราคิ ไว้บนข้อมือของพระพิฆเนศ ลูกชายของพระพิฆเณศ เห็นเช่นนั้น จึงอยากมีน้องสาว เพื่อที่ได้ผูกด้าย ราคิ ให้ตนบ้าง จึงขอร้องพ่อ ให้ภรรยาทั้งสอง คือริดดิ และซิดดิ ให้กำเนิดน้องสาว ในที่สุดพระพิฆเนศตกลงที่จะตอบสนองความต้องของลูกชาย จึงได้ให้กำเนิด ซานโตชิ มา (เทพธิดาแห่งความพึงพอใจ) ถูกสร้างขึ้นโดยเปลวไฟศักดิ์สิทธิ์ ที่เกิดขึ้นจาก ริดดิ และซิดดิ


ในตำนานของ กฤษณะและดรัวปาดิ

อีกตำนานหนึ่ง เกิดขึ้นจากมหากาพย์มหาภารตะ และเกี่ยวข้องกับ พระกฤษณะและ ดรัวปาดิ ภรรยาของปาณฑพ เธอเคยฉีกผ้าไหมเส้นหนึ่งออกจากผ้าส่าหรีของเธอ และผูกไว้ที่ข้อมือของพระกฤษณะ เพื่อหยุดเลือดจากแผลในสนามรบ พระกฤษณะรู้สึกประทับใจกับการกระทำของเธอ และประกาศให้เธอเป็นน้องสาวของเขาแม้ว่าพวกเขาจะไม่เกี่ยวข้องกันก็ตาม เขาสัญญาว่าจะตอบแทนบุญคุณนี้

ผ่านไป 25 ปี ดรัวปาดิ ได้แต่งงาน กับ 1 ใน 5 นักรบผู้ยิ่งใหญ่ ปาณฑพ และเป็นธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ทรงพลัง พระกฤษณะ กลับมาทดแทนบุญคุณ โดยการช่วย ดรัวปาดิ ในงานชุมนุมของ พระดริตาราชทรา เมื่อปาณฑพ เสียพนันและขายดรัวปาดิ ให้กับ กัวราวาส


ตำนานของ ราชาปีศาจบาลี และเทพธิดาลักษมี

ราชาปีศาจบาลี เป็นผู้ศรัทธา ที่ยิ่งใหญ่ของท่านวิษณุ พระวิษณุได้ละทิ้งบ้านเมืองเพื่อออกไปปกป้องอาณาจักรของเขา เทพธิดาลักษมีปรารถนาที่จะอยู่ในที่พำนักของเธอเพื่อรอสามีกลับมา เธอจึงปลอมตัวเป็นพรหมณ์ไปหาบาลี เพื่อขอความคุ้มครองจนกว่าสามีของเธอจะกลับมา


ในระหว่างการเฉลิมฉลอง ชะราวาน ปูร์นิมา ลักษมีผูกด้ายศักดิ์สิทธิ์ให้กับกษัตริย์บาลี เมื่อถูกถาม เธอจึงเปิดเผยตัวตนว่าเธอเป็นใครและทำไมเธอถึงอยู่ที่นี่ บาลีรู้สึกประทับใจต่อความปรารถนาดีของเธอ ที่มีต่อครอบครัวและจุดประสงค์ของเธอ บาลีจึงขออธิฐานให้พระเจ้าคุ้มครองเธอโดยเขายอมเสียสละทุกอย่างเพื่อพระเจ้า


เพื่อเป็นการระลึกถึงการอุทิศตนของบาลีต่อท่านลอร์ดและน้องสาวของเขาเทพธิดาแห่งเทศกาลนี้จึงเป็นที่รู้จักกันในนาม บาลีวา ตั้งแต่นั้นมาพี่น้องทั่วโลกทำตามประเพณีของการเชิญน้องสาวของพวกเขาสำหรับการผูกด้ายของความรักและเฉลิมฉลอง รักชา บานดาน


ตำนานของ ยมราช และ ยามูนา

ลอร์ดยมราช (เจ้าแห่งความตาย) และน้องสาวของเขา เจ้าแม่ยามูนา (แม่น้ำทางตอนเหนือของอินเดีย) โดยยามูนา ผูก ราคิ ให้กับ ยมราช และมอบความเป็นอมตะให้แก่เขา ยมราช รู้สึกประทับใจ ได้ประกาศว่า ใครก็ตามที่ได้รับการผูก ราคิ จากน้องสาวของพวกเขาและสัญญาว่าจะปกป้องเธอ จะได้รับความเป็นอมตะไปตลอดกาล


 

Reference

We all Nepal weallnepali.com/nepali-festivals/janaipurnima

Inside Himalayan https://www.insidehimalayas.com/janai-purnima-festival-rakshya-bandhan/

Wikipedia

And photos from Google.


ดู 1,751 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page