top of page
รูปภาพนักเขียนThai Nepal Travels & Trek

Yomari Punhi #ขนมไหว้เทพธิดา อันนาปุรณะ ของชาว เนวารี เนปาล#

อัปเดตเมื่อ 30 ธ.ค. 2563


Yomari หรือ โยมาริ เป็นขนม ของชาวพื้นเมือง ชนเผ่าเนวารี (Newari)ประเทศเนปาล

โยมาริ แปลว่า ขนมปังอันแสนอร่อย และ ปูนนิ (Punhi) หมายถึงดวงจันทร์เต็มดวง โยมาริ ปูนนิ (Yamari Punhi) เป็นเทศกาลที่มีการเฉลิมฉลองในวันเพ็ญ โดยการทำขนม โยมาริ กิน และแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน เทศกาลนี้เป็นที่นิยมกันมากในหุบเขากาฐมาณฑุ


การเฉลิมฉลอง โยมาริ ปูนนี ภายใต้ปฏิทินจันทรคติฮินดูซึ่งอยู่บน Marga Shukla Purnima ของทุกปี

ทำไมต้องมีการเฉลิมฉลอง โยมาริ ปูนนิ ?

โยมาริ ปูนนิ เป็นเทศกาล การเฉลิมฉลอง การเก็บเกี่ยว ของชาวเนวารี ซึ่งได้มาจากชื่อของ ขนมโยมาริ ที่ทำมาจากแป้งข้าวจ้าว ซึ่งมีการเก็บเกี่ยว จัดทำในเทศกาลนี้โดยเฉพาะ โดยประชาชน ได้บูชา เทพ อันนาปุรณะ (Annapurna) ซึ่งเป็นเทพธิดา แห่งการเก็บเกี่ยว และพืชพันธุ์ธัญญาหาร การเก็บเกี่ยวจะเสร็จสิ้นในช่วงเดือนธันวา การบูชาเทพอันนาปุรณะ เพื่อให้พืชพันธุ์ ได้ผลการเก็บเกี่ยวที่ดีได้ปริมาณมาก พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์ มีสุขภาพที่แข็งแรง และความมั่งคั่งมาสู่ผู้ที่บูชา



เทศกาล โยมาริ ปูนนิ เฉลิมฉลองกันอย่างไร?

ขนมโยมาริ มีการปั้นเป็นรูปร่างที่แตกต่างกันไป สวนใหญ่จะปั้นเป็นรูปของพระเจ้าและเทพธิดา เช่น ปั้นเป็นพระกุมาร พระพิฆเนศ พระนางลักษมี และเทพกูเบอ

หลังจากชาวบ้านทำงานเป็นเวลานาน ทำการเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว เด็ก ๆ รวมตัวกันเป็นกลุ่มต่อกันเป็นแถว เพื่อขอขนม โยมาริ ในตอนเย็น ผู้ปกครองและผู้สูงอายุ จะให้ศีลให้พรแก่เด็กๆ และให้ขนมโยมาริ และมีการเต้นรำสวมหน้ากากศักดิ์สิทธิ์ โดยเทศกาลนี้จะดำเนินการในหมู่บ้านของ ฮาริ ซิดดิ และ เตกโช ซึ่งตั้งอยู่ ทางตอนใต้สุดของหุบเขากาฐมาณฑุ เทศกาลนี้เชื่อกันว่าเริ่มจาก หมู่บ้าน Panchal Nagar (Panauti) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆของชาวเนวารี ทางตอนใต้ห่างจากเมืองกาฐมาณฑุ 32 กิโลเมตร

หมู่บ้าน Panauti

มีการกล่าวกันว่า สามีภรรยาคู่หนึ่ง มีนามว่า สุชันดราและคริต้า ได้ทดลองนำเมล็ดข้าว ที่ผลิตได้จากที่นาของตน มาทำขนม ซึ่งมีรูปร่างออกมาเหมือนขนมโยมาริ ในปัจจุบัน ขนมหน้าตาแปลกใหม่นี้ถูกแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านในหมู่บ้าน ชาวบ้านในหมู่บ้านชอบขนมนี้มาก และตั้งชื่อให้ว่าโยมาริ แปลว่า “ขนมปังอันแสนอร่อย”

คู่สามีภรรยา ให้โยมาริ กับเทพกูเบอ

( Kuber) (เทพแห่งธัณญาพืช) ซึ่งปลอมตัวและเดินผ่านมาในหมู่บ้าน หลังจากทานโยมาริแล้ว เทพกูเบอ มีความสุขมาก และแปลงร่างกลับไปเป็นเทพ พร้อมกับอวยพรให้ทั้งคู่มีผลผลิตของพืชพันธุ์ ที่สมบูรณ์ และมีความมั่งคั่งตลอดไป


นอกจากนี้เทพกูเบอ ยังประกาศว่าคนใดที่เตรียม โยมาริ ในรูปแบบของพระเจ้าและเทพธิดาในวันพระจันทร์เต็มดวงของ Marga Sukla Purnima ทุกปีและมีการบำเบ็ญภาวนา อุทิศตนเพื่อพระเจ้า เป็นจำนวนสี่วัน จะได้รับพรให้มีความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง


เทศกาลนี้ มีการเฉลิมฉลองเป็นเวลา 4 วัน โดยทั้ง 4 วันนี้เป็นการสวดมนต์อ้อนวอนและบูชาต่อเทพพระเจ้า มีการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ในเวลากลางคืนในวิหาร ดาเนสเวอร์ มหาเทพ ในเมือง บาเนปา มีประเพณีในการทำ ดีปาวาลี (Deepavali) หรือเทศกาลแห่งไฟที่บ้าน ผู้คนบูชาพระเจ้ากูเบอ พระพิฆเนศ และเทพธิดาสุบาดรา ใน 4 วันนี้


ขนมโยมาริ จะทำขึ้นไว้ในวันที่ 2 ของเทศกาล โดยปั้นเป็นรูปร่างของพระเจ้าและเทพธิดา และเก็บไว้ในฉางข้าว (ฮาการิ) และนำมาบูชา ในวันที่ 4 ขนมโยมาริ เป็นขนมมงคล ขนมบูชา และเชื่อว่าขนมที่ปั้นเป็นรูปพระเจ้า เมื่อทานเข้าไปในร่างกายมนุษย์เพื่อบูชาและใช้โยมาริบำบัด วันที่ 4 ถือเป็นวันสิ้นสุดของเทศกาล โยมาริ ปูนนี และในวันนี้ถือเป็นการบูชาเจ้าแม่ทุรคา ในปางของ เทพธิดาดานยาลักษมี หรือ เทพธิดา อันนาปุรณะ มาตา

ไส้ของขนมโยมารี ที่ทำจากน้ำตาลและงา

นอกจากนี้ โยมาริ ยังถูกเปรียบเทียบกับโลก โดยสองด้านของ โยมาริ จะถือว่าเป็นขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ การใส่ไส้น้ำตาลอ้อย (chaku) และเมล็ดงา เปรียบเสมือนเป็น เทพมหามายา (พระเจ้าผู้ทรงอิทธิฤทธิ์) บางครั้งบรรจุเนื้อสัตว์เป็นไส้ โยมาริ เปรียบเสมือนเป็นพระพิฆเนศ หรือ การใส่ไส้ถั่วดำเปรียบเสมือนเป็น เทพเจ้ากุมาร เป็นต้น

ประเทศเนปาลเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม หลายหลากแตกต่างกันไป ตามชนเผ่าของคนพื้นเมือง แม้แต่ขนม ก็ยังมีวัฒนธรรมและความเป็นมาให้น่าติดตาม นอกจากหน้าตาของขนมจะน่าทานแล้ว รสชาติ ยังหวานอร่อยเช่นกัน รวมถึงยังเป็นขนมมงคลของประเทศเนปาลอีกด้วย ถ้าใครได้มาประเทศเนปาลแล้ว อยากแนะนำให้ลิ้มลอง ซึ่งเราสามารถหาซื้อขนมโยมาริ ได้ตามร้านขายขนมหวาน ตามตลาดพื้นเมืองในเมืองกาฐมาณฑุ หรือตามซุปเปอร์มาเก็ตบางแห่ง

#รูปภาพจาก google#

ดู 325 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page